วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กุญแจแห่งความสำเร็จ

เอ่ยชื่อ แฟรงก์ สิเนตรา วัยรุ่นสมัยนี้ทำหน้าเหรอหราแต่คนที่ ๔๐ ขึ้นไปเห็นจะจำดาราฮอลีวู้ดคนนี้ได้ หลายคนยังประทับใจบทเพลงและน้ำเสียงของเขา กล่าวกันว่าเพลง My Way ของแฟรงก์ สิเนตรา จุดประกายชีวิตให้แก่คนจำนวนไม่น้อย หลังจากที่เขาตายได้ไม่นาน เมื่อกลางปีนี้นิตยสารไทม์ คัดเลือกให้เขาเป็นนักร้องที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษนี้ สมัยที่เขารุ่งสุดขีด คือเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว คิวของเขาแน่นขนัด ไหนจะเล่นหนัง บันทึกแผ่นเสียง และทำธุรกิจนานาชนิดแต่ละอย่างประสบความสำเร็จทั้งนั้น เล่นหนังก็ได้ตุ๊กตาทองร้องเพลงก็ได้ทั้งเงินและกล่อง ทำธุรกิจก็ได้กำไร เพื่อนบางคนจึงอดถามเขาไม่ได้ว่า
"แฟรงก์ ทั้งหลายทั้งปวงนี้คุณทำได้ยังไง"
"ผมก็เพียงแต่ทำทีละอย่างเท่านั้นแหละ" แฟรงก์ตอบ
คำตอบของเขาดูง่ายๆ พื้นๆ บางคนอาจรู้สึกว่า เป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินด้วยซ้ำ แต่ที่จริงนี้แหละคือ เคล็ดลับแห่งความสำเร็จและความสุขเลยทีเดียว
ทุกวันนี้เราทำงานทีละชิ้นทีละอย่างอยู่แล้วนี่ บางคนนึกในใจ แต่จริงหรือที่เราทำงานทีละอย่าง?
ขณะที่อ่านบรรทัดนี้ บางคนก็กำลังนั่งดูโทรทัศน์ หรือกินขนมไปด้วย จริงอยู่ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ งาน แต่เวลาทำงาน เราก็อาจทำไม่ต่างจากนั้น ขณะที่ติดต่อธุระทางโทรศัพท์ มือก็อาจกำลังเคาะแป้นคอมพิวเตอร์ หาไม่ตาก็กำลังจ้องอ่านตัวเลขบนจออยู่ บางทีประชุมไปด้วยก็พิมพ์อี-เมล์ไปด้วย ส่วนคุณลูกก็เห็นจะไม่ต่างจากคุณพ่อคุณแม่ ขณะที่ตาอ่านหนังสือ หูก็ฟังเพลง ปากก็เคี้ยวขนม บางทีตาซ้ายดูหนังสือ ตาขวาดูโทรทัศน์ก็มี
การทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันนี้ กำลังเป็นที่นิยม เพราะเชื่อว่าเป็นใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพที่สุด เวลายิ่งมีน้อยก็ยิ่งเอาอะไรต่ออะไรมาสุมกองในเวลาเดียวกัน แต่บางคนก็พอใจที่จะทำให้ตัวเองเป็นคน busy อย่างนั้น เพราะรู้สึกว่าเท่ดีเป็นสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้คนอื่นประทับใจไม่รู้ลืม
แต่การทำตัวให้วุ่นวายอย่างนั้น ได้ผลในเชิงปริมาณ แต่ไม่ค่อยให้ผลในเชิงคุณภาพเท่าไหร่ คุณภาพที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงคุณภาพของงานหรือผลงานเท่านั้น แต่รวมถึงคุณภาพของจิตใจและคุณภาพของความสัมพันธ์ด้วย
ความจริงนั้นมีอยู่ว่า ศักยภาพของคนเรานั้น จะพรั่งพรูไปยังจุดที่เราจดจ่อมากที่สุด แต่เมื่อเราทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้สักอย่างเดียว ศักยภาพจึงไม่อาจรวมศูนย์ ไปยังงานใดงานหนึ่งได้เต็มที่ งานที่ออกมาจึงมีคุณภาพต่ำกว่าความสามารถที่เรามี และเมื่อไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนานๆ สมาธิจึงตั้งมั่นได้ยาก การทำงานหลายชิ้นพร้อมกัน เป็นวิธีบั่นทอนสมาธิที่ประสิทธิภาพมาก และทำให้เราสติแตกง่ายอารมณ์ระเบิดเถิดเทิงก็ยามนี้แหละ จึงไม่แปลกที่ความสัมพันธ์กับผู้อื่นจะร้าวฉานได้ง่าย แล้วก็พลอยทำให้จิตใจย่ำแย่ตามด้วย
ลองทำงานทีละอย่างดู ไม่ว่าทำงานอะไรก็ให้ความใส่ใจกับงานนั้นอย่างเต็มที่ มือทำอะไร ตามองไปที่ไหน ใจก็อยู่กับสิ่งนั้น ให้ปัญญาพรั่งพรูออกมาเพื่อสร้างสรรค์งานชิ้นนั้น อย่างเต็มความสามารถ เวลาจิตใจวอกแวก สติหรือความรู้ตัวก็ค่อยๆ ดึงจิตกลับมาสู่งานนั้น ไม่นานสมาธิก็จะค่อยๆ ตั้งมั่น ผลตามมาคือความสงบและความเพลิน การทำงานให้เพลิดเพลินกับการทำงานให้ได้มากๆ นั้นต่างกัน ทำงานให้ได้หลายๆ ชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทำงานแล้วเพลินมีกี่คนที่ทำได้
อย่าห่วงว่างานจะออกมาไม่ดี หากเพลินกับงาน แล้วก็มั่นใจได้เลยว่า งานจะมีคุณภาพ คนทำก็มีความสุข ตรงกันข้าม ถ้าเราปล่อยให้ความวิตกกังวล มารบกวนจิตใจ นอกจากทำให้เราเป็นทุกข์แล้ว งานมักออกมาไม่ดี ความห่วงกังวลนั้นเป็นศัตรูกับสมาธิ และมักขัดขวางปัญญาไม่ให้ทำงานอย่างเต็มที่
ที่จริง ไม่เฉพาะงานการเท่านั้น กิจวัตรประจำวันหรือแม้แต่การพักผ่อน เราก็น่าลองทำทีละอย่าง เวลากินข้าวก็วางหนังสือลงชั่วคราวดูบ้าง และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ วางธุระการงานออกจากหัวด้วย ตราบใดที่ใจยังแบกงานมาจากออฟฟิศอยู่เราก็ยังวุ่นเหมือนเดิม แม้จะมีทีท่าพักผ่อนอยู่ก็ตาม
งานที่เราทำ กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ล้วนมีความเพลิดเพลิน และความสำเร็จแฝงอยู่ทั้งนั้น แต่เราจะเข้าถึงสิ่งนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อเคล็ดลับของแฟรงก์ สิเนตราหรือเปล่า
ขอบคุณบทความจาก ร่มไม้-ริมระเบียง